วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สถานที่ท่องเที่ยวประเทศลาว





หลวงพระบาง

เหตุผลต้นเรื่อง
เมื่อฉันเริ่มต้นที่จะเล่าเรื่องราวของเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง ตามที่พี่ตะลอนได้มอบหมาย
และไว้วางใจเพราะเห็นว่าเดินทางไปบ่อยกว่าคนอื่น ๆ อาจจะพอมีความทรงจำเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ
ของหลวงพระบางมากกว่าคนอื่นอยู่พอสมควร เมื่อรับงานนี้ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ฉันรู้ตัวว่าตัวเองมีความรู้
เกี่ยวกับหลวงพระบางเพียงแค่เศษเสี้ยวน้อยนิดเท่านั้น เมื่อเริ่มต้นหยิบหนังสือเล่มหนึ่งที่คิดว่าจะบอกเล่าเรื่องราว
เกี่ยวกับเมืองเล็ก ๆ เมืองนี้ได้ทั้งหมด ฉันก็รู้ตัวอีกว่าฉันจะต้องหาหนังสือเล่มอื่นมาอ่านเพิ่มอีกหลายเล่ม
หลวงพระบาง เมืองเล็ก ๆ ที่ฉันสามารถใช้เวลาเพียงวันเดียวเช่า และปั่นจักรยานชมเมืองได้ทุกซอกทุกมุม
โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะหลง และไม้ต้องกลัวว่าจะเหนื่อย แต่ด้วยระยะเวลาเพียงวันเดียวฉันไม่สามารถซึมซับเอา
บรรยากาศความเป็นหลวงพระบางได้ทั้งหมด ทุก ๆ ครั้งที่ฉันได้มีโอกาสพาลูกทัวร์มาเยี่ยมยามเมืองนี้ ฉันรู้สึกเหมือนว่าได้กลับบ้าน
มันอบอุ่นอย่างประหลาด และตื้นตันจนยากจะอธิบาย ทุก ๆ คืนที่เราพักค้างแรมที่นั่น ฉันจะแอบเช่าจักรยานปั่นไปรอบเมือง เพื่อสูดกลิ่นอาย และซึมซับเอาบรรยากาศทุก ๆ อย่างไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้ ฉันปั่นจักรยานไปรอบ ๆ เมืองชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าอย่างไม่รู้เบื่อ ถึงแม้ว่าในตอนกลางวันเราจะต้องใช้เวลานั่งรถตลอดทั้งวันจาก เมืองเวียงจันทร์มายังเมืองหลวงพระบาง คุณอาจจะคิดว่า ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ปั่นจักรยานคนเดียวในตอนกลางคืน ต่างบ้านต่างเมืองไม่กลัวอันตรายหรือ คำตอบของฉันคือไม่ เพราะฉันไว้ใจคนเมืองนี้ แม้หลวงพระบางจะถูกกระแสทุนนิยมรุมเร้าหนักขึ้นเรื่อย ๆ มีคนหลากหลายเชื้อชาติแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมยาม และ
นำเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา เพราะถือได้ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับไปแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยนใจคนเมืองหลวง
พวกเขายังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ ไม่โลภไม่แก่งแย่งใคร ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันรัก และหลงไหลเมืองนี้
นอกจากตึกเก่า ๆ สมัยฝรั่งเศล และวัดวาอารามศิลปะล้านช้างอันทรงคุณค่า
คำว่า ?ลาว? มาจากไหน
ลาว คำนี้มีที่มาอยู่หลายที่ด้วยกัน บ้างก็ว่ามาจากคำว่า ?ลัวะ? หรือ ?ละว้า? ชนชาติที่อาศัยอยู่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อนแล้วดังจะเห็นได้จากหลักฐานเกี่ยวกับการฝังศพหินตั้งและไหหิน เมื่อพวกไทยอพยพมาอยู่ในแถบนี้จึงเรียกคนเหล่าว่า ?ลาว? บ้างก็ว่าคนชาติลาวเกิดมาจากน้าเต้าใหญ่สองลูก
ในภาษาบาลีเรียกน้ำเต้าว่า ?ลาวุ? แล้วเพี้ยนมาเป็น ?ลาว? ในพงศาวดารจีนได้กล่าวว่ามีพี่น้องอยู่ 9 คน
ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนชาติลาวเรียกว่า ?พวกลี? ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น ?ลุง? แล้วเพี้ยนเป็น ?ลวง? ในที่สุดกลายมาเป็น ?ลาว?
และบ้างก็ว่า ?ลาว? คือคำเดียวกับคำว่า ?ดาว? เนื่องจากแต่เดิมนั้นพวกลาวอาศัยอยู่บนที่ราบสูงในประเทศจีน
ถือตัวว่าเป็นผู้มีความเจริญสืบเชื้อสายมาจากแถน เทียน ไท ไท้ ซึ่งมีความหมายว่า ?ฟ้า?
เหมือนกันเพราะเหตุนี้พวกลาวจึงมีลัทธิถือผีฟ้ามาแต่เดิม แต่ก็มีนักปราชญ์บางท่านเชื่อว่า
ลาว อาจเพี้ยนมาจากคำว่าหล้ง ลี ลุง ลวง แล้วเพี้ยนมาเป็นหลวง ก็ได้ ดังนั้น ลาว จึงมีความหมายว่าใหญ่ หรือเจริญ และชนชาติลาวถือกำเนิดมาพร้อมๆกับชนชาติจีน นับว่าเป็นชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกชาติหนึ่ง และมีความเจริญไม่แพ้ชาติอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน




สถานที่ท่องเที่ยวจ.พิษณุโลก





ภูหินร่องกล้า


อนุสรณสถานบนลานดอกไม้
     อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า มีพื้นที่ครอบคลุมรอยต่อสองจังหวัด คือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ภูหินร่องกล้าเป็นแหล่งกำเนิดของประวัติศาสตร์การ
สู้รบอันยาวนานเป็นวีรกรรมของนักรบไทย ความขัดแย้งของลัทธิและแนวความคิดที่นำไปสู่ความสูญเสียเลือด
ชีวิตและน้ำตาภาพประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ตลอดจนสภาพสิ่งก่อสร้างในอดีตจะถูกบันทึกเก็บรักษาไว้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงผลของการใช้กำลังเข้าประหัตประหาร ทำให้เกิดความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้
อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองความแตกแยก ความสามัคคีของคนในชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 191,875 ไร่
หรือ 307 ตารางกิโลเมตร
     ในปี พ.ศ. 2511-2525 เทือกเขาหินร่องกล้านี้เคยเป็นฐานที่มั่นใหญ่ในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต
์ เป็นผลเกิดปัญหาความมั่นคงทางการเมืองขึ้น ในกลางปี พ.ศ. 2515 ทางราชการทหารจึงได้เปิดยุทธการภูขวาง
โดยจัดกองพลผสมจากกองทัพภาคที่ 1, 2, 3 กรมการบินศูนย์สงครามพิเศษทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน
เข้าปฏิบัติเพื่อยึดภูหินร่องกล้า ทว่าไม่สำเร็จเพราะสภาพพื้นที่ไม่อำนวยเนื่องจากภูหินร่องกล้าตั้งอยู่กลางเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน
เป็นป่ารกทึบ
     ต่อมากองบัญชาการทหารบก ได้เปลี่ยนแผนยุทธการในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยใช้นโยบายที่ 66/2523
และคำสั่งที่ 65/2525 กองทัพภาคที่ 3 และทหารหน่วยผสม พลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 3 (พตท. 33)
ซึ่งนำโดย พันเอกไพโรจน์ จันทร์อุไร ผู้อำนวยการ พตท.33 ได้นำนโยบายใหม่นี้เข้าปฏิบัติการจนประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะ โดยไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่น้อย บรรดาชาวบ้านและมวลชนของ ผกค. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา เผ่าม้ง (แม้ว)
ได้กลับใจไม่ให้ความร่วมมือกับ ผกค. และเข้ามอบตัวกับทางราชการส่วนแกนนำได้ละทิ้งฐานที่มั่นไป จากนั้น พตท. 33 จึงได้เริ่มพัฒนาพื้นที่แห่งนี้โดยการตัดถนนผ่านใจกลางภูหินร่องกล้า ต่อมา พตท. 33 ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ สร 4001(301)/324
ลงวันที่ 10 มกราคม 2526 ให้กองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พิจารณาร่วม
และประสานกับกรมป่าไม้เพื่อพิจารณา จัดตั้งบริเวณภูหินร่องกล้าเป็นอุทยานแห่งชาติ
กรมป่าไม้ได้มีคำสั่ง ที่ 196/2526 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 ให้นายชุมพล สุขเกษม นักวิชาการป่าไม้ 5 นายไมตรี อนุกูลเรืองกิจ
เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 นายมาโนช การพนักงาน นายช่างโยธา 3 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลบริเวณภูหินร่องกล้าผลการสำรวจสรุปได้ว่า
เป็นพื้นที่ๆ สภาพภูมิประเทศและทิวทัศน์สวยงาม เป็นป่าต้นน้ำลำธารและมีลักษณะทางธรรมชาติ ที่เป็นจุดเด่นหลายแห่ง เช่น ลานหินแตก
ลานหินปุ่ม ประกอบกับเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของการสู้รบระหว่างกองทัพแห่งชาติกับคอมมิวนิสต์
มีความเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
เป็นผลให้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1 /2526
     เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2526 เห็น สมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าภูหินร่องกล้าให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนด บริเวณป่าภูหินร่องกล้าท้องที่ตำบลบ่อโพธิ์ ตำบลเนินเพิ่ม ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
และตำบลกกสะท้อน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 96
ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 48 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยยอดภูเขาที่สำคัญคือ ภูหมันขาว ภูแผงม้า ภูขี้เถ้า ภูลมโล
ภูหินร่องกล้า โดยมีภูหมันขาวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1 ,820 เมตรจากระดับน้ำทะเล เทือกเขาเหล่านี้จะมีความสูงลดหลั่นลงไปจากด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกและ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสาย
เช่น ห้วยลำน้ำไซ ห้วยน้ำขมึน ห้วยออมสิงห์ ห้วยเหมือดโดน และห้วยหลวงใหญ่
ลักษณะภูมิอากาศ
ภูหินร่องกล้ามีสภาพภูมิอากาศคล้ายภูกระดึงและภูหลวงเนื่องจากมีความสูงไล่เลี่ยกันอากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวอุณหภูมิจะต่ำมากประมาณ 0-4oC มีหมอกคลุมทั่วบริเวณ ส่วนฤดูร้อนอากาศจะเย็นสบายฝนตกชุกในฤดูฝน
อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 18-25oC
พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ 3 ชนิด คือ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา
ป่าเต็งรัง เป็นป่าที่ขึ้นในพื้นที่ระดับต่ำบริเวณเชิงเขา พื้นที่เป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และค่อนข้างแห้งแล้ง พันธุ์ไม้ที่พบ
ได้แก่ เต็ง รัง พยอม เหียง ตะคร้อ พลวง ฯลฯ
ป่าดิบเขา จะขึ้นในบริเวณเขาสูง ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก อากาศชื้น เป็นป่ารกทึบ พันธุ์ไม้ที่พบเห็นทั่วไป
ได้แก่ ก่อเดือย ก่อหัวหมู อบเชย ทะโล้ ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่าง ได้แก่ หวาย ปาล์มชนิดต่างๆ
ป่าสนเขา เป็นป่าบนที่ราบหลังภู มีสนสองใบและสนสามใบขึ้นปะปนกัน ส่วนใหญ่เป็นสนสองใบ บางแห่งอยู่รวมกันเป็นป่าสนกว้างใหญ่
นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้ป่าดอกไม้ป่าหลายชนิดขึ้นอยู่ตามลานหิน เช่น ม้าวิ่ง เอื้องตาหิน เอื้องคำหิน เอื้องสายสามสี ช้องนางคลี่
เหง้าน้ำทิพย์ กุหลาบขาว กุหลาบแดง ฟองหิน รวมทั้งมอส เฟิน ไลเคนล์ และตะไคร่ชนิดต่างๆ ซึ่งในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาวดอกไม้ป่าเหล่านี้จะออกดอกบานสะพรั่งมีสีสันงดงาม
ในอดีตภูหินร่องกล้า เคยมีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เสือ กวางป่า เก้ง กระจง นกชนิดต่าง ๆ
ครั้นต่อมาเมื่อกลายเป็นแหล่งอาศัยของคนจำนวนมาก และยังเคยเป็นสมรภูมิแห่งการสู้รบมาก่อน สัตว์ป่าต่างๆ จึงถูกล่าเป็นอาหาร
ในปัจจุบันเหตุการณ์ต่าง ๆ สงบลง จึงมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น เสือ เก้ง กระจง หมี และนกหลายชนิดเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น
การเดินทาง
- จากตัวเมืองพิษณุโลก โดยสารรถยนต์ไปตามเส้นทางพิษณุโลก - หล่มสัก ระยะทางประมาณ 68 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านแยง
เลี้ยวซ้ายเข้าสู่อำเภอนครไทย เป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางต่อโดยรถสองแถว อีกประมาณ 31 กิโลเมตร จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

- จากเมืองเพชรบูรณ์ไปอำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า บ้านวังบาน บ้านโจ๊ะโหวะ จนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้
ระยะทางประมาณ 115 กิโลเมตร